ประกาศสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
เรื่อง รับสมัครนักวิจัยไทยเข้ารับทุนแลกเปลี่ยนนักวิจัยระยะสั้นตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการ
ด้านสังคมศาสตร์ระหว่างไทย - จีน (NRCT-CASS) ประจำปี ๒๕๖๒
--------------------------------------------
ด้วยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) (The National Research Council of Thailand, NRCT) และสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) ได้ตกลงให้มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ระหว่างไทย – จีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การวิจัยในสาขาวิชาการต่างๆ ทางด้านสังคมศาสตร์ระหว่างนักวิจัยไทยและจีน ศึกษาวิจัยประเด็นปัญหาทางด้านสังคมศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย โดย วช. และ CASS จะร่วมกันจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายให้นักวิจัยไทยเดินทางไปทำวิจัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน และให้นักวิจัยจีนเดินทางเข้ามาทำวิจัยในประเทศไทย
๑. ลักษณะทุน
๑.๑ เป็นทุนซึ่งให้แก่นักวิจัยไทยเดินทางไปทำวิจัยระยะสั้นร่วมกับหน่วยงานของ CASS มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวนไม่เกิน ๖ ทุน
๑.๒ เป็นทุนซึ่งมีกำหนดระยะเวลา ทุนละ ๑๔ วัน โดยผู้ที่ได้รับทุนจะต้องจัดทำแผนการเดินทางไปทำวิจัย ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
๑.๓ เป็นทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัย/วิเคราะห์/เก็บข้อมูลวิจัยของโครงการวิจัยที่ดำเนินการอยู่
๑.๔ เป็นทุนเพื่อสร้างเครือข่ายการวิจัยระหว่างไทย-จีน โดยเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อนำไปสู่การทำวิจัยร่วมกันใน
๒. ระยะเวลาดำเนินการ
๒.๑ ระยะเวลาทำวิจัยระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง เดือนธันวาคม ๒๕๖๒
๒.๒ การเลือกระยะเวลาทำการวิจัย ควรคำนึงถึงข้อจำกัดของจีนในบางช่วงเวลาที่อาจไม่เอื้ออำนวยต่อการทำวิจัยในจีน เช่น เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรือ ตวนอู่เจี๋ย ตรงกับวันที่ ๕ เดือน ๕ ตามปฏิทินจีน (จันทรคติ) ของ ทุกปี (พฤษภาคม - มิถุนายน) ช่วงปิดภาคเรียน (กรกฎาคม) วันชาติจีน (ตุลาคม) เทศกาลไหว้พระจันทร์ (กันยายน – พฤศจิกายน)
๒.๓ วช.ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาปรับลดจำนวนวันเดินทางและปรับเปลี่ยนกำหนดระยะเวลาทำการวิจัยตามข้อเสนอโครงการ ในกรณีที่ วช. และ CASS พิจารณาเห็นสมควร โดยจะแจ้งให้ผู้สมัครขอรับทุนดำเนินการต่อไป
๓. กรอบวิชาการที่รับสมัคร (ต้องอยู่ในบริบทความสัมพันธ์ไทย – จีนเท่านั้น)
๓.๑ ความมั่นคงทางสังคม (Social Security)
๓.๒ การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขจัดความยากจน (Economic Growth and Poverty Reduction)
๓.๓ การลงทุนของจีนในไทยและการลงทุนของไทยในจีน (China Investment in Thailand and Thailand Investment in China)
๓.๔ การศึกษาและพัฒนาเยาวชน (Youth Education)
๓.๕ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
๓.๖ การค้าและอุตสาหกรรม (Industrial and Trade)
๓.๗ การพัฒนาสังคม (Social Development)
๓.๘ ความเชื่อมโยงระหว่างโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Connectivity of EEC and BRI)
๔. คุณสมบัติของผู้ขอรับทุน
๔.๑ มีสัญชาติไทย มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทย และมีหลักฐานการทำงานมั่นคง
๔.๒ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป
๔.๓ ผู้สมัครจะต้องเป็นบุคลากรในสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่มีหลักสูตรการสอนในระดับปริญญาตรีขึ้นไป หรือสังกัดหน่วยงาน/สถาบันที่ทำการวิจัย
๔.๔ ต้องมีอายุไม่เกิน ๕๕ ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร และมีสุขภาพแข็งแรง
๔.๕ มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนในระดับดี - ดีมาก
๔.๖ ได้รับการเสนอชื่อจากสถาบัน/หน่วยงานต้นสังกัด
๔.๗ มีความรู้และประสบการณ์การวิจัยในกรอบวิชาการและขอบข่ายการวิจัยที่จะสมัครขอรับทุนซึ่งจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำวิจัยตามที่ได้รับทุนมาใช้ประโยชน์ได้ โดยสามารถดำเนินการวิจัยต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว และผลการวิจัยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการ และการพัฒนาประเทศต่อไป รวมถึงโครงการวิจัยดังกล่าวจะต้องมีศักยภาพในการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ด้วย
๔.๘ สามารถดำเนินการวิจัยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดอย่างมีคุณภาพ
๔.๙ เป็นผู้มีจรรยาบรรณนักวิจัยตามจรรยาบรรณนักวิจัยของ วช.
๔.๑๐ ไม่เป็นผู้ค้างส่งรายงานการวิจัยตามกำหนดสัญญารับทุนของ วช.
๔.๑๑ ในกรณีที่อยู่นอกเหนือจากคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นให้อยู่ในดุลยพินิจของ วช.
๔.๑๒ กรณีนักวิจัยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระยะสั้น นักวิจัยไทยไปจีนในปี ๒๕๖๒ ของ วช. ต้องเว้นระยะเวลาไป ๑ ปี สำหรับการสมัครขอรับทุนโครงการนี้
๕. สถาบันวิจัยฝ่ายจีน
๕.๑ CASS ทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยรับรองของฝ่ายจีน โดยเป็นผู้ประสานหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ในจีนตามข้อเสนอโครงการวิจัยของนักวิจัยไทย
๕.๒ ในการทำวิจัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน วช. กำหนดให้ผู้สมัครขอรับทุนต้องเยือนหน่วยงานวิจัยภายใต้สังกัด CASS ในปักกิ่งที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อทำวิจัย อย่างน้อย ๑ หน่วยงาน เพื่อรับข้อมูลและหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการทำวิจัยในจีนซึ่ง CASS เป็นผู้ประสานงาน หากผู้สมัครขอรับทุนไม่ระบุหน่วยงานวิจัยภายใต้สังกัด CASS ในปักกิ่ง วช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับพิจารณาคัดเลือก
๕.๓ ผู้สมัครขอรับทุนสามารถขอเยือนหน่วยงานอื่นในสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มเติมได้ ซึ่งต้องเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยภายใต้มหาวิทยาลัย หรือ สถาบันวิจัยที่ภาครัฐให้การสนับสนุน
๕.๔ ผู้สมัครขอรับทุนต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานจีนที่ต้องการเยือนให้ครบถ้วนและชัดเจน ได้แก่ ชื่อสถาบันวิจัย/มหาวิทยาลัย (ระบุภาควิชาและคณะ) สถานที่ติดต่อ (ระบุเมืองและมณฑล) รวมทั้งหัวข้อ/ความเชี่ยวชาญพิเศษของจีนที่ต้องการหารือ
๕.๕ ในกรณีที่ผู้สมัครขอรับทุนได้มีการติดต่อประสานงานหน่วยงานจีนในข้อ ๕.๒ และ ๕.๓ ในระดับบุคคลไว้แล้ว ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อนักวิจัยและสถานที่ติดต่อด้วย เพื่อให้ CASS ช่วยประสานงานติดต่อ
๕.๖ วช.ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาปรับเปลี่ยนสถาบันวิจัยรับรองฝ่ายจีนตามข้อเสนอโครงการ ในกรณีที่ วช. และ CASS พิจารณาเห็นสมควร โดยจะแจ้งให้ผู้สมัครขอรับทุนดำเนินการต่อไป
๖. วิธีการสมัครขอรับทุน
๖.๑ ผู้สมัครจะต้องจัดทำรายละเอียดใบสมัครตามแบบฟอร์มที่กำหนด
๖.๒ ผู้สมัครสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จาก Website ของ วช. ที่ http://www.nrct.go.th
๖.๓ ผู้สมัครต้องส่งเอกสารการสมัคร จำนวน ๑๕ ชุด (ชุดจริง ๑ ชุด และสำเนา ๑๔ ชุด) มายังฝ่ายส่งเสริมการวิจัยกับต่างประเทศ กองการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเอกสารที่ต้องส่งมีดังนี้
๖.๓.๑ ใบนำส่งเอกสารในการขอรับทุนแลกเปลี่ยนนักวิจัย
๖.๓.๒ แบบหนังสืออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาระดับตั้งแต่อธิการบดีขึ้นไปสำหรับผู้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และระดับอธิบดีหรือเทียบเท่าสำหรับผู้สังกัดหน่วยงานอื่น
๖.๓.๓ เอกสารสรุปงานวิจัยที่จะดำเนินการในสาธารณรัฐประชาชนจีน (Abstract) เป็นภาษาไทย ๑ หน้า และภาษาอังกฤษ ๑ หน้า A4 ความยาวไม่เกิน ๑ หน้ากระดาษพิมพ์ (ระบุชื่อและหน่วยงานของนักวิจัย ชื่อโครงการวิจัย และงานที่จะทำ)
๖.๓.๔ แบบฟอร์มภาษาไทยข้อเสนอโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระยะสั้น
๖.๓.๕ แบบฟอร์มภาษาอังกฤษ (Application Form Exchange of Scholars)
๖.๓.๖ แผ่นบันทึกข้อมูลของข้อเสนอโครงการฯ (MS word)
ทั้งนี้ วช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่ส่งเอกสารขอรับทุนไม่ครบถ้วนตามรายละเอียดในข้อ ๖.๓ และขอสงวนสิทธิ์ไม่ส่งเอกสารดังกล่าวคืน โดยจะถือว่าเป็นโมฆะและจะดำเนินการทำลายเอกสารดังกล่าวทันที รวมทั้งขอสงวนสิทธิ์ไม่รับใบสมัครและหลักฐานที่ส่งถึง วช. ทางโทรสารหรืออีเมล์
๗. สถานที่ส่งเอกสารสมัครขอรับทุน
ฝ่ายส่งเสริมการวิจัยกับต่างประเทศ
กองการต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
๑๙๖ ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐
(ทุนแลกเปลี่ยนนักวิจัยระยะสั้น NRCT–CASS ปี ๒๕๖๒)
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมการวิจัยกับต่างประเทศ (สต.) โทรศัพท์ ๐-๒๕๗๙-๒๖๙๐ และ ๐-๒๕๖๑-๒๔๔๕ ต่อ ๒๐๓
๘. กำหนดเวลารับสมัคร
ตั้งแต่บัดนี้จนถึง วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ทั้งนี้ วช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่ไม่ส่งเอกสารขอรับทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยการส่งใบสมัครทางไปรษณีย์จะถือวันที่ไปรษณีย์ต้นทางประทับตราเป็นสำคัญ
๙. งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน
๙.๑ วช. สนับสนุนค่าโดยสารเครื่องบินไป – กลับ และค่าภาษีสนามบินระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในราคาชั้นประหยัด
๙.๒ CASS สนับสนุนค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าพาหนะเดินทางทั้งหมดในสาธารณรัฐประชาชนจีน
๑๐. แนวทางปฏิบัติ
๑๐.๑ ผู้รับทุนต้องศึกษาเงื่อนไขประกาศนี้อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภายหลัง
๑๐.๒ ผู้รับทุนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขประกาศนี้ รวมทั้งระเบียบและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการรับทุนของ วช. อย่างครบถ้วน
๑๐.๓ กรณีที่ผู้รับทุนผ่านการพิจารณาแบบมีเงื่อนไขต้องปรับปรุงข้อเสนอข้อเสนอโครงการวิจัย กำหนดระยะเวลาเดินทาง และหน่วยงานที่จะเยือนในสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้รับทุนต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่ วช. กำหนด
๑๐.๔ วช. จะมีหนังสือแจ้งอนุมัติทุนถึงผู้รับทุน ซึ่งหนังสือแจ้งอนุมัติทุนฯ ถือเป็นเอกสารแสดงว่าผู้รับทุนได้รับอนุมัติทุนฯ จาก วช. และผู้รับทุนมีพันธะกรณีโดยตรงกับ วช. ในการทำวิจัยตามสัญญารับทุนฯ นักวิจัยสามารถใช้หนังสือแจ้งอนุมัติทุนฯ เพื่อขออนุมัติเดินทางไปราชการตามระเบียบราชการจากหน่วยงานต้นสังกัด รวมทั้งดำเนินการในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับหนังสือเชิญของ CASS ซึ่ง วช. เป็นผู้ประสานและส่งให้ผู้รับทุนนั้น ผู้รับทุนสามารถใช้ประโยชน์ในการดำเนินการเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามเห็นสมควร
๑๐.๕ กรณีที่ผู้รับทุนมีความประสงค์ขอเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาเดินทางไปทำวิจัยหลังจากที่ CASS ได้จัดทำโปรแกรมการทำวิจัยให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้รับทุนต้องทำหนังสือเพื่อขอเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาเดินทาง โดยระบุเหตุผลอันสมควรและส่งให้ วช. ภายใน ๓๐ วัน ก่อนกำหนดระยะเวลาเดินทางที่กำหนดไว้เดิม การพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาเดินทางหรือให้ยกเลิกการเดินทางและยกเลิกสัญญารับทุนถือเป็นดุลยพินิจของ วช. แต่เพียงผู้เดียว
๑๐.๖ กรณีที่ผู้รับทุนได้จัดทำสัญญารับทุนฯ กับ วช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ผู้รับทุนมีเหตุขัดข้องไม่สามารถทำวิจัยตามสัญญารับทุนฯ ได้ ผู้รับทุนต้องส่งหนังสือแจ้ง วช. อย่างเป็นทางการเพื่อชี้แจงสาเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมตามสัญญารับทุนฯ ได้ ภายใน ๑๕ วัน ก่อนกำหนดการเดินทางทำการวิจัย หากผู้รับทุนไม่แจ้งให้ วช. ทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด วช. จะไม่พิจารณาจัดสรรทุนในโครงการอื่นของ วช. ให้แก่นักวิจัยดังกล่าวในครั้งต่อไป
๑๐.๗ กรณีที่ผู้รับทุนได้รับเงินงวดวิจัยไปแล้วจาก วช. แต่ไม่สามารถทำวิจัยได้ นักวิจัยต้องมีหนังสือแจ้ง วช. อย่างเป็นทางการเพื่อนำส่งคืนเงินงวดวิจัยดังกล่าวให้ วช. ภายใน ๓๐ วัน หลังจากที่ผู้รับทุนมีหนังสือแจ้ง วช. ในข้อ ๑๐.๖
๑๐.๘ ในกรณีที่มีผู้ผ่านการคัดเลือกและได้รับทุนจาก วช. แล้ว แต่ขอสละสิทธิ์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงถือเป็นเหตุให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนางานวิจัยและตัดสิทธิ์ผู้สมัครรายอื่น วช. จะขึ้นบัญชีผู้สละสิทธิ์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
๑๐.๙ ในกรณีที่อยู่นอกเหนือจากเงื่อนไขการรับทุนดังกล่าวข้างต้น ให้อยู่ในดุลยพินิจของ วช.
๑๑. เงื่อนไขการรับทุนเมื่อสิ้นสุดการวิจัย
๑๑.๑ ผู้รับทุนจะต้องส่งรายงานภาษาไทย จำนวน ๕ ชุด ตามแบบฟอร์มที่ วช. กำหนด รวมทั้งบทสรุปประเด็นที่เป็นประโยชน์เชิงนโยบายในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อประเทศไทย พร้อมทั้งแผ่นบันทึกข้อมูลของรายงานฯ (MS word) จำนวน ๑ แผ่น ให้ วช. ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญารับทุนฯ มิฉะนั้น วช. จะไม่พิจารณาจัดสรรทุนในโครงการอื่นของ วช. ให้แก่ผู้รับทุนตามระเบียบที่ วช. กำหนด และจะอยู่ในรายชื่อผู้ค้างส่งรายงานฯ ของ วช. |
๑๑.๒ ผู้รับทุนจะต้องนำเสนอรายงานการวิจัยในการสัมมนาวิชาการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ ประเทศไทย
๑๒. หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก
๑๒.๑ ข้อเสนอขอรับทุนเป็นไปตามแนวทางที่ วช. กำหนด โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะผู้พิจารณาทางวิชาการของ วช.
๑๒.๒ คุณูปการหรือคุณค่าความรู้ (knowledge contribution and innovation) : การขยายขอบเขตองค์ความรู้ ความเข้าใจ ระดับลึกหรือลักษณะเฉพาะสาขาวิชา (disciplines) และความรู้เชิงเปรียบเทียบ และที่มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหานโยบายทางด้านสังคมศาสตร์ของประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
๑๒.๓ ข้อเสนอการวิจัย (research proposition) : โจทย์วิจัย คำถามวิจัย สมมติฐานวิจัย หรือวาระวิจัย (research agenda) ที่จะตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายความรู้และมีจุดเน้น (focus) ที่ชัดเจน
๑๒.๔ การทบทวนวรรณกรรม ทฤษฎี และสร้างกรอบแนวคิดชี้นำการวิจัย (reviews of literature, theory and conceptual construct for the research)
๑๒.๕ ระเบียบวิธีการวิจัย (research methodology) : การออกแบบการวิจัย การสร้างมาตรวัด และการสังเกตการณ์ วิธีการและเครื่องมือการวิจัย และความเหมาะสมที่จะมีการเก็บข้อมูลที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด
๑๒.๖ ความเป็นไปได้ในการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและการนำไปใช้ประโยชน์ (journal publication and utilization)
๑๒.๗ โอกาสสำหรับนักวิจัยใหม่ (opportunity for new researchers) : นักวิจัยที่มีศักยภาพ และความเสอมภาคของสถาบันการศึกษาในภูมิภาค
๑๓. การแจ้งผลการพิจารณา
วช. จะแจ้งผลการพิจารณาประมาณเดือนเมษายน ๒๕๖๒ หรือหลังจากได้รับแจ้งผลพิจารณาจาก CASS