วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการ “การพัฒนาแผนที่นำทางสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จังหวัดหนองคาย” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
ในการประชุมครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ครั้งที่ 3 ร่วมกับนายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วย ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ หัวหน้าโครงการ และคณะวิจัย ซึ่งได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยของโครงการในครั้งนี้
นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล กล่าวว่า วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาแผนที่นำทางและแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งที่เหมาะสมกับบริบทของจังหวัดหนองคาย ภายใต้แนวคิด “การขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน และประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน
นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวขอบคุณ วช. และคณะนักวิจัย ที่ได้เข้ามา
ศึกษา วิเคราะห์ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาและยกระดับระบบขนส่งของจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบาย “เมืองน่าอยู่” ของจังหวัดหนองคาย
ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการพัฒนารูปแบบการพัฒนา และจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) สำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับศักยภาพและโอกาสของจังหวัดหนองคายในฐานะเมืองหน้าด่านทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค จากการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธรณรัฐประชาชนจีน - สาธารณรัฐประชาชนลาว โครงการยังครอบคลุมการศึกษาศักยภาพในการพัฒนาด่านพรมแดน จุดผ่อนปรนทางการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร รวมถึงแนวทางการจัดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (Logistics Hub) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน อย่างไรก็ดี จังหวัดหนองคายยังประสบปัญหาการขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ขาดผู้ประกอบการรายหลักด้านโลจิสติกส์ รวมถึง ข้อจำกัดด้านราคาน้ำมันที่มีความผันผวน และความล่าช้าในการพัฒนาโซนอุตสาหกรรมบางพื้นที่ การจัดทำแผนที่นำทางในครั้งนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางพัฒนาระบบขนส่งของจังหวัดหนองคายอย่างรอบด้าน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสู่ระดับประเทศและสากล
ท้ายที่สุด โครงการนี้ยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางบกและทางน้ำ รองรับการเดินทางของผู้สูงอายุ นักท่องเที่ยว และส่งเสริมการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต